Skip to main content
Audio file
   ทุกภาคส่วนจับมือเดินหน้าผลักดันแนวทางสร้างศูนย์การดูแลผู้ป่วยระยะเวลาสุดท้ายก่อนเสียชีวิต (Hospice) โดย มธ. พร้อมให้คำปรึกษาทางกฎหมาย ขณะที่ รพ.รามาฯ เตรียมสร้าง End of life ward รองรับการตายดีในโรงพยาบาล      เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๑ มีการจัดเสวนา “Hospice กับการรับรองมาตรฐานสถานพยาบาล” โดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ใน งานประชุมวิชาการประจำปีครั้งที่ ๑๙ (19th HA National Forum) ร่วมด้วย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ณ ศูนย์การประชุมอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี      ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า Hospice คือ ศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มีคุณภาพชีวิตและจากโลกนี้ไปอย่างสงบหรือตายดี คนไข้ไม่ทนทุกข์ทรมานจากเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่ได้ใช้เวลาช่วงสุดท้ายอยู่กับคนที่รัก ครอบครัว และทำในสิ่งที่ตนปรารถนา เป็นเรื่องใหม่ที่สังคมไทยกำลังเรียนรู้และรับรองสิทธิตามมาตรา ๑๒ ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐      “ขณะนี้ Hospice เริ่มเปิดให้บริการที่ศูนย์ธรรมศาสตร์ธรรมรักษ์แล้ว ส่วนโรงพยาบาลอื่นๆ ที่ต้องการทำ Hospice ไม่ต้องมีความกังวลอุปสรรคด้านกฎหมาย เพราะทางศูนย์กฎหมายสุขภาพฯ ได้ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มธ. และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีทีมพร้อมให้คำปรึกษา ซึ่งขณะนี้มีศูนย์บริรักษ์ โรงพยาบาลศิริราช ที่เปิดดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองแล้ว และเราเข้าไปให้คำปรึกษาอยู่เช่นกัน”      ด้าน รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีผู้ป่วยมารับการรักษาแล้วเสียชีวิตที่โรงพยาบาล อาทิ โรคมะเร็งระยะสุดท้าย บางคนไม่ได้เสียชีวิตทันที แต่นอนโรงพยาบาลอีกเป็นเดือนหรือเป็นปี ต้องใช้บุคลากรและทรัพยากรจำนวนมาก แนวคิดเรื่องการจัดตั้งศูนย์ Hospice จึงเกิดขึ้นเพื่อการเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาล ศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และบ้าน ซึ่งตรงนี้จะเป็นตัวอย่างของระบบการดูแลสุขภาพสำหรับผู้ป่วยในวาระท้ายให้กับประเทศไทยต่อไป      รศ.พญ.ยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า แนวทางของ Hospice คือ การดูแลผู้ป่วยในช่วง ๖ เดือนสุดท้ายของชีวิตให้ดีที่สุด เป็นการดูแลต่อเนื่องจากระบบ Palliative Care หรือการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่ต้องดำเนินการตั้งแต่แรกเริ่มเมื่อพบรู้ว่าเป็นโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง ไตวาย ตับวาย หรือโรคหลอดเลือดสมอง      “การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นการดูแลแบบองค์รวม (Holistic care) ซึ่งครอบคลุมทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการทั้งหมด เพราะแนวทางที่เราจะก้าวไป จะไม่สิ้นสุดที่การตายเท่านั้น เนื่องที่ผ่านมา พบว่า ผู้ป่วยยังมีคู่สมรสที่มีโอกาสเสียชีวิตตามไปอีกในช่วง ๑ ปีสูงมาก ซึ่งเราต้องยืดเวลาดูแลไปจนกว่าจะมั่นใจว่าครอบครัวผู้ป่วยดูแลตัวเองได้อย่างน้อย ๓ เดือน”      รศ.พญ.ยุวเรศมคฐ์ กล่าวต่อว่า ศูนย์ Hospice ที่จะเกิดขึ้น ต้องมีการวางระบบฝึกฝนบุคลากร โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยประสงค์จะกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน ต้องสบายใจ สามารถโทรปรึกษาได้ตลอด และหลังจากนี้โรงพยาบาลรามาธิบดีจะสร้าง End of life ward หรือหอผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อรองรับผู้ที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลให้ช่วงเวลาปลายทางที่มีความสุข      ศ.นพ.ดร.อิศรางค์ นุชประยูร คลินิกกุมารชีวาภิบาล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางคลินิกมุ่งเน้นการให้บริการแบบ “โฮมแคร์” คือดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่บ้าน ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนจะมีระยะเวลาสุดท้ายต่างกัน บางคนออกจากโรงพยาบาล ๔๘ ชั่วโมงก็เสียชีวิต แต่บางคนดูแลรักษาแบบประคับประคองอยู่ได้นานถึง ๔ เดือน สิ่งสำคัญคือการปรึกษากับครอบครัวว่า จะทำอย่างไรผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และทำตามความต้องการของผู้ป่วย   กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143
รูปภาพ